สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 196  ถ้าหนี้เงินได้แสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ ท่านว่าจะส่งใช้เป็นเงินไทยก็ได้

วรรคสอง การเปลี่ยนเงินนี้ ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5658/2561

ตามสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้อง โจทก์และจำเลยตกลงชำระหนี้แก่กันเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น แต่จำเลยจะส่งใช้เป็นเงินไทยได้ก็โดยคิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินไทยและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นเงินไทยอาจมีผลให้จำเลยต้องชำระหรือโจทก์ได้รับชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้เงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง หากว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับเงินไทยจำนวนน้อยกว่า 23.93 บาท ซึ่งจะเป็นผลให้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

 

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 5,006,439.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 473,814 บาท พร้อมค่าธรรมเนียมการจัดการอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินหนี้ค่าบริการค้างชำระตามใบแจ้งหนี้ฉบับที่ 18 ถึง 28 ฉบับละ 1,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ ตามสำเนาใบแจ้งหนี้ นับถัดจากวันที่ครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มีนาคม 2558) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 473,814 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเฉพาะส่วนที่โจทก์ชนะคดี

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศสิงคโปร์ ประกอบกิจการให้บริการที่ปรึกษาและจัดการข้อมูลเทคโนโลยี จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการบริหารจัดการสนามกอล์ฟ ทรัพย์สินและสถานที่ นางลีทำสัญญาจ้างบริการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีกับโจทก์ โจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามใบแจ้งหนี้ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 17 ขาดอายุความ โจทก์ไม่อุทธรณ์โต้แย้ง ข้อเท็จจริงส่วนนี้จึงยุติ

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า หนังสือรับรองบริษัทโจทก์มีข้อความระบุแต่เพียงว่า โจทก์ก่อตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ โดยมิได้ระบุว่า นางสาวโชว์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จึงรับฟังไม่ได้ว่า นางสาวโชว์กระทำการแทนโจทก์ในการมอบอำนาจให้นายเป็ง และ/หรือนายเกษม และ/หรือนายพัชรพล และ/หรือนางสาวอาภาพรฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ในเรื่องอำนาจฟ้อง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนางสาวโชว์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจพร้อมกับแนบหนังสือรับรองบริษัทโจทก์เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 มาด้วย ส่วนนี้จำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่า จำเลยไม่รับรองความถูกต้องของลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจ ลายมือชื่อนางสาวโชว์เป็นลายมือชื่อปลอม หนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้องโจทก์หมายเลข 2 เป็นเอกสารปลอม นายเป็งและ/หรือนายเกษม และ/หรือนายพัชรพล และ/หรือนางสาวอาภาพรจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนโจทก์และไม่มีอำนาจที่จะลงลายมือชื่อแต่งตั้งนายเกษมเป็นทนายความ โดยมิได้ให้การปฏิเสธว่านางสาวโชว์ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์แต่อย่างใด คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า นางสาวโชว์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ อุทธรณ์ส่วนนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริการกำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา บริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์แก่จำเลย (IT Consultancy Service Agreement) หรือไม่ เห็นว่า สัญญาว่าจ้างบริการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี ระบุว่าทำขึ้นระหว่างจำเลย ผู้ว่าจ้างกับโจทก์ ผู้รับจ้าง สัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 มีนายเป็งกรรมการของโจทก์ลงลายมือชื่อฝ่ายผู้รับจ้างเพียงคนเดียว ส่วนสัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.5 มีนายเป็งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้รับจ้าง นางลีในฐานะผู้จัดการฝ่ายบริหารของบริษัทจำเลยลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยเป็นฝ่ายผู้ว่าจ้าง ซึ่งแม้จะไม่เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่จดทะเบียนไว้ที่กำหนดให้กรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญ ก็ตาม แต่โจทก์มีนายเป็งกรรมการโจทก์มาเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้บริหารจัดการระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบเครือข่ายลูกค้า ระบบข้อมูลเทคโนโลยี ระบบเว็บไซต์ ตลอดจนกำกับดูแลและเป็นที่ปรึกษาให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลคอมพิวเตอร์ของจำเลย หรือผู้รับจ้างช่วงของจำเลย หรือให้แก่กลุ่มบริษัท บลูแคนยอน พรอพเพอร์ที่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลย กำหนดระยะเวลาจ้าง 2 ปี สิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จากนั้นจำเลยต่อสัญญากับโจทก์อีก 2 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 โดยขอบเขตของงานที่ทำนอกสถานประกอบการของจำเลย (Off Site) ได้แก่ งานสำรองข้อมูลไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ งานสำรองข้อมูลบันทึกของโปรแกรมป้องกันการบุกรุกจากภายนอก (Firewall Log Files) บริหารจัดการระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ให้แก่บลูแคนยอน คันทรี่คลับ ซึ่งเป็นธุรกิจบริหารสนามกอล์ฟ และโรงแรม ของกลุ่มบริษัทจำเลยที่จังหวัดภูเก็ต บริหารจัดการระบบผู้ใช้ (User Account Management) ให้แก่บลูแคนยอน คันทรี่คลับ ส่วนงานที่ทำในสถานประกอบการของจำเลย (On Site) ได้แก่บริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์ให้จำเลย ซ่อมบำรุงระบบป้องกันการบุกรุกจากภายนอก (Firewall Router Maintenance) การจัดสรรและแบ่งงานของแผนคอมพิวเตอร์ ติดตั้งระบบเชื่อมต่อแบบไร้สายภายในสถานประกอบการของจำเลย วางแผนและดำเนินการติดตั้งระบบเครื่องถ่ายเอกสาร สแกน แฟกซ์ ของฟูจิซีร็อกซ์ ให้แก่ทุกแผนกของจำเลย วางแผนและดำเนินการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดในสถานประกอบการของจำเลย สำหรับการทำงานที่สถานประกอบการของจำเลยที่จังหวัดภูเก็ต (On Site) พยานจะเป็นผู้เดินทางมาทำงานที่บูลแคนยอน คันทรี่คลับ ด้วยตนเอง โดยก่อนเดินทางจะต้องได้รับอนุมัติจากนางลีก่อน พยานเป็นผู้ลงรายการในใบแจ้งหนี้ การทำงานของโจทก์ที่ผ่านมา หลังจากที่โจทก์เข้าให้บริการดูแล จัดการระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตแก่กลุ่มบริษัทและกิจการของจำเลยตามสัญญาแล้ว จำเลยก็ได้ชำระค่าบริการแก่โจทก์โดยวิธีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารแล้วบางส่วน ในการดำเนินงานตามสัญญาว่าจ้าง พยานติดต่อประสานงานกับนางลีมาตลอด โดยนางลีแนะนำตนเองว่าเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟบูลแคนยอน คันทรี่คลับ และเป็นกรรมการบริษัทจำเลยด้วย และพยานโจทก์ปากนี้ยังตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ก่อนทำสัญญาว่าจ้างทั้งสองฉบับ พยานรู้จักกับนางลี โดยทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2547 แต่ขณะนั้นไม่ได้ทำสัญญากัน จนกระทั่งปี 2551 จึงมีการทำสัญญาว่าจ้าง นายเป็งเป็นกรรมการโจทก์และผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาว่าจ้างทั้งสองฉบับ อีกทั้งยังเป็นผู้ที่เข้ามาปฏิบัติงานตามสัญญาที่จังหวัดภูเก็ตด้วยตนเอง จึงเป็นพยานผู้รู้เห็นการดำเนินการตามสัญญาโดยตรง เบิกความเล่ารายละเอียดความเป็นมาตลอดจนขอบเขตของงานที่ทำ โดยมีเอกสารหลักฐานสนับสนุนดังที่ปรากฏจากข้อความในหนังสือรับรองบริษัทจำเลยที่ว่า นางลีเป็นกรรมการจำเลยระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2551 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาจ้างตามสัญญาว่าจ้างทั้งสองฉบับ ส่วนไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และสำเนาเอกสารการจองตั๋วเครื่องบิน ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่านางลี รับรู้และอนุญาตให้นายเป็ง เดินทางเข้ามาทำงานที่สถานประกอบการของจำเลยที่จังหวัดภูเก็ต จำเลยมิได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ทั้งก็มิได้ปฏิเสธว่าที่บลูแคนยอน คันทรี่คลับ ไม่มีการวางระบบบริหารจัดการข้อมูลเทคโนโลยี ระบบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต หรือระบบเครือข่ายลูกค้า อย่างที่โจทก์กล่าวอ้าง หรืออ้างว่ามีการบริหาร ดูแล จัดการระบบดังกล่าว โดยจำเลยได้ว่าจ้างบุคคลอื่นมาดำเนินการ นอกจากนี้นายสมภพกรรมการจำเลยยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า จำเลยเป็นเจ้าของกิจการสนามกอล์ฟบลูแคนยอน คันทรี่คลับ และถือหุ้นในบริษัทบลูแคนยอน พรอพเพอร์ที่ จำกัด ร้อยละ 85 บริษัทดังกล่าวเคยมีนายเซียและนางลีเป็นกรรมการ เดิมจำเลยได้ว่าจ้างบริษัทบลูแคนยอน พรอพเพอร์ที่ จำกัด บริหารสนามกอล์ฟบลูแคนยอน คันทรี่คลับ ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องเจือสมกับพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ และจากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่า นางลี ในฐานะกรรมการจำเลย ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลย แม้นายสมภพจะอ้างว่า ต่อมาจำเลยมีมติเลิกจ้างบริษัทบลูแคนยอน พรอพเพอร์ที่ จำกัด และแต่งตั้งให้บริษัททุ่งคา บลูแคนยอน จำกัด เข้าบริหารแทน กับเลิกสัญญาจ้างนายเซียและนางลี ตามรายงานการประชุม แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารดังกล่าวก็ปรากฏว่าเป็นการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557 ซึ่งเป็นเวลาที่สัญญาว่าจ้างใกล้จะสิ้นสุดลง ส่วนที่จำเลยอ้างว่า การจ่ายเงินมิใช่เรื่องที่จำเลยได้รับบริการตามสัญญาว่าจ้างจากโจทก์ แต่เป็นเพราะมีการสมคบกันกระทำทุจริตระหว่างโจทก์กับผู้บริหารของจำเลยบางคนในขณะนั้นเพื่อนำเงินออกไปจากบริษัท ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากหลักฐานสนับสนุน และแม้จำเลยจะอ้างว่า นางลี มีข้อพิพาทกับผู้ถือหุ้นอื่นของจำเลยและถูกดำเนินคดี ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวด้วยแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นเรื่องปัญหาการบริหารจัดการองค์กรของจำเลยเองทั้งสิ้น จำเลยหาอาจยกขึ้นอ้างต่อสู้โจทก์ได้ไม่ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาว่าจ้าง และยังคงต่อสัญญาโดยการทำสัญญาว่าจ้างอีก ตลอดจนถึงก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ที่ค้างชำระของปี 2554 ถึงปี 2557 ให้บุคคลอื่นที่มิใช่ลูกจ้างของจำเลย แต่เป็นลูกจ้างของบริษัทบลูแคนยอน พรอพเพอร์ที่ จำกัด ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ นางลีจึงเป็นพิรุธว่าแท้จริงแล้วโจทก์ไม่เคยให้บริการใด ๆ แก่จำเลย และการที่จำเลยได้ชำระค่าบริการที่ปรึกษาและจัดการข้อมูลเทคโนโลยีรวม 6 เดือน แก่โจทก์ นั้นเป็นเพราะความร่วมมือระหว่างโจทก์กับกรรมการชุดเก่าของบริษัทจำเลยในการกระทำทุจริต ข้อเท็จจริงส่วนนี้ได้ความจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายเป็งพยานโจทก์ว่า นางซินดี้เป็นบุคคลฝ่ายจำเลยที่ติดต่อกับโจทก์เกี่ยวกับการให้บริการตามสัญญาว่าจ้างทั้งสองฉบับมาโดยตลอด รวมถึงเป็นผู้ประสานงานการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้แก่โจทก์ซึ่งจากบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนายสมภพพยานจำเลย ก็ได้ความว่า นางซินดี้เป็นทีมงานเดียวกับนางลี ตามพฤติการณ์จึงไม่มีเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกต้องระแวงสงสัยว่านางซินดี้ไม่มีอำนาจติดต่อประสานงานกับโจทก์แทนจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ให้บริการกำกับ ดูแล ให้คำปรึกษา บริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์แก่จำเลย (IT Consultancy Service Agreement) และโจทก์ได้ดำเนินการให้บริการแก่จำเลยตามสัญญาแล้ว แม้สัญญาว่าจ้างทั้งสองฉบับจะมีการลงลายมือชื่อกรรมการจำเลยไม่ครบถ้วนตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทก็ตาม แต่การที่จำเลยรับเอางานที่โจทก์ทำมาเป็นประโยชน์ของตนก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมรับสัญญาว่าจ้างโจทก์ทั้งสองฉบับที่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ สัญญาว่าจ้างทั้งสองฉบับจึงมีผลผูกพันจำเลย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ ฉบับที่ 26, 27 และ 28 แก่โจทก์หรือไม่ นายเป็งเบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงยืนยันว่า โจทก์ยังคงให้บริการแก่จำเลยจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2557 ที่สัญญาสิ้นสุด และระหว่างเดือนมีนาคม 2557 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 พยานยังปฏิบัติงานตามสัญญา แต่ไม่มีการขอให้เปิดอีเมลใหม่และไม่สามารถเข้าไปบริหารจัดการระบบ Firewall System ได้เนื่องจากระบบถูกบล็อกตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 ที่มีการเปลี่ยนแปลง password แต่พยานยังคงดำเนินการในการสำรองข้อมูล (Backup System) อยู่ ซึ่งงานที่นายเป็งอ้างว่าได้ทำขึ้นนี้อยู่ในขอบเขตของงานที่ได้ว่าจ้างกัน จำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้ง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ และเห็นได้ว่าข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นระหว่างนี้เป็นผลมาจากปัญหาภายในจำเลยเองทั้งสิ้น ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าจำเลยไม่เคยใช้บริการหรือไม่ได้บริการใด ๆ จากโจทก์ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ตามใบแจ้งหนี้ฉบับที่ 26, 27 และ 28 จึงฟังไม่ขึ้น และเมื่อจำเลยรับเอางานบริการที่โจทก์ทำเป็นของตนแล้วแต่ไม่ชำระราคา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัดต้องรับผิดชำระค่าบริการแก่โจทก์ตามใบแจ้งหนี้ดังกล่าว ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมการจัดการในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าบริการที่ค้างชำระนับถัดจากวันครบกำหนด 30 วัน ตามที่ระบุในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องนั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้างให้บริการที่ปรึกษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ จำเลยตกลงชำระค่าธรรมเนียมการจัดการให้แก่โจทก์ตามข้อ 5.2 ของสัญญาดังกล่าวในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน จากยอดค้างชำระทั้งหมดโดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการดังกล่าวในกรณีหากมียอดค้างชำระมากกว่า 30 วัน เมื่อฟังว่า จำเลยต้องชำระค่าบริการแก่โจทก์ภายในวันสุดท้ายของเดือนที่มีการให้บริการ แต่ปรากฏตามใบแจ้งหนี้ว่า ใบแจ้งหนี้ดังกล่าวลงวันที่ 13 มีนาคม 2559 วันที่ 1 เมษายน 2557 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ของเดือนที่ให้บริการจึงเป็นวันก่อนวันถึงกำหนดที่จำเลยต้องชำระค่าบริการแก่โจทก์ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมการจัดการนับถัดจากวันที่ครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ระบุในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า ค่าธรรมเนียมการจัดการอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์นั้นสูงเกินส่วนหรือไม่ และโจทก์ใช้สิทธิเรียกค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ ส่วนนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่เคยติดตามทวงถามเรียกค่าบริการที่อ้างว่าจำเลยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2554 จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 และยังคงทำสัญญาจ้างให้บริการกับจำเลยต่อมาอีกโดยมิได้ระบุจำนวนหนี้ค้างชำระไว้ในสัญญา จนครบกำหนดเวลาดำเนินการ โจทก์ก็ไม่เคยทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้หรืองดให้บริการแต่อย่างใด การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมการจัดการส่วนนี้จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้ร้อยละ 15 ต่อปี สูงเกินส่วน เห็นว่า สัญญาว่าจ้างเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ข้อ 5 เรื่อง ค่าตอบแทน ผลประโยชน์และการชำระเงินคืน กำหนดอัตราค่าบริการเป็นรายเดือน หากบริการดังกล่าวเกิดขึ้นนอกประเทศสิงคโปร์ บริษัท (จำเลย) ต้องดำเนินการโอนเงินค่าบริการเข้าบัญชีของผู้จำหน่าย (โจทก์) ภายในวันสุดท้ายของเดือนที่การบริการเกิดขึ้น ซึ่งส่วนนี้นายสมภพพยานจำเลยเบิกความรับว่า หากสัญญาว่าจ้างมีอยู่จริง การเบิกเงินต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ข้อ 5.1 ที่ระบุให้จำเลยต้องโอนเงินในวันสุดท้ายของเดือนที่มีการให้บริการ และโจทก์จะต้องนำส่งใบกำกับภาษีให้แก่จำเลยเพื่อนำไปลงบันทึกการชำระเงินค่าบริการตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นหนี้ที่ได้กำหนดเวลาชำระไว้ตามวันแห่งปฏิทิน เมื่อจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จึงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดโดยโจทก์มิพักต้องเตือนอีก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าธรรมเนียมการจัดการในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เห็นว่า เป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่าโจทก์ติดตามทวงถามเอาแก่นางลี นางซินดี้ และนายอเล็กซ์ พนักงานของบริษัทบลูแคนยอน พรอพเพอร์ที่ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารบลูแคนยอน คันทรี่คลับ ในขณะนั้นแล้ว กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยต้องชำระค่าธรรมเนียมการจัดการในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าบริการที่ค้างชำระนับถัดจากวันครบกำหนด 30 วัน ตามที่ระบุในใบแจ้งหนี้แต่ละฉบับเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้องนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยค้างชำระค่าบริการและค่าธรรมเนียมการจัดการจำนวน 209,211.83 ดอลลาร์สิงคโปร์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์ โดยคิดคำนวณอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18 มีนาคม 2558 ในอัตรา 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับ 23.93 บาท เป็นเงิน 5,006,439.09 บาท เห็นว่า ตามสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องโจทก์และจำเลยตกลงชำระหนี้แก่กันเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น แต่จำเลยจะส่งใช้เป็นเงินไทยได้ก็โดยคิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินไทยและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นเงินไทยอาจมีผลให้จำเลยต้องชำระหรือโจทก์ได้รับชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้เงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง หากว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับเงินไทยจำนวนน้อยกว่า 23.93 บาท ซึ่งจะเป็นผลให้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 19,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ พร้อมค่าธรรมเนียมการจัดการในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินหนี้ค่าบริการค้างชำระตามใบแจ้งหนี้ฉบับที่ 26 ถึง 28 ฉบับละ 1,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ นับถัดจากวันที่ครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่หนี้ค่าบริการตามใบแจ้งหนี้ฉบับที่ 26 ถึง 28 ถึงกำหนดเป็นต้นไปจนถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มีนาคม 2558) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 19,800 ดอลลาร์สิงคโปร์ นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มีนาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยใช้เป็นเงินไทยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาใช้เงินนั้นโดยอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวต้องไม่เกิน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อ 23.93 บาท ตามคำขอของโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร